“พฤติกรรมการกิน” สาเหตุความเสี่ยงโรคกรดไหลย้อน
เป็นที่รับรู้กันเกี่ยวกับ สาเหตุของ "โรคกรดไหลย้อน" ที่ปัจจัยของความเสี่ยงหลักมักมาจาก "พฤติกรรม" โดยเฉพาะเรื่องของ "การกิน" ไม่ว่าจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือรวมไปถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายตามวัย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคกรดไหลย้อน เป็นอาการของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติหรืออาจเสื่อมสภาพ ทำให้น้ำย่อยหรืออาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก แน่นหน้าอก เรอเปรี้ยวและขมคอ หรือจุกที่บริเวณคอ
การป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อน
วิธีที่สามารถทำได้ง่ายและดีที่สุดเกี่ยวกับ "การกิน" คือ การควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ เลี่ยงการกินอาหารมื้อหนักหรือมื้อใหญ่ รวมทั้งควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเพื่อลดภาระการทำงานของกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังมื้ออาหาร ควรเว้นระยะเวลา 3-4 ชั่วโมง
การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคกรดไหลย้อน รวมถึงสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนเพื่อลดโอกาสหรือการกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อน โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- อาหารรสจัดและมีความเป็นกรดสูง เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง เพราะอาหารกลุ่มนี้จะเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้หูรูดอาจเปิดออกและน้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ง่าย
- อาหารที่มีไขมันสูง ไม่เพียงเฉพาะของทอดแต่รวมถึงอาหารที่มีไขมันในตัว เช่น เนย ชีส เนื้อสัตว์ที่ติดมัน เพราะอาหารไขมันสูงจะต้องใช้เวลาในการย่อยนาน จึงมีโอกาสที่จะเกิดกรดในกระเพาะมากขึ้นและอาจไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงแอลกอฮอล์ เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น