โดย ภญ. กมลชนก ไทยเรือง
"พฤติกรรมนำพา" วลีนี้น่าจะอธิบายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด "โรคกรดไหลย้อน" ได้ค่อนข้างดี เพราะปัจจัยส่วนใหญ่ที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน ล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ รับประทานอาหารใกล้เวลานอน รวมถึงการรับประทานอาหารทอด อาหารมัน แต่นอกจากพฤติกรรมแล้ว ในผู้ป่วยบางกลุ่มก็มีปัจจัยทำให้เสี่ยงในการเป็นกรดไหลย้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น
อาการของโรคกรดไหลย้อนที่พบได้มาก คือ อาการแสบร้อนกลางอกและเรอเปรี้ยว หากจะวินิจฉัยเป็นโรคกรดไหลย้อนได้ต้องไม่พบสัญญาณเตือน (Alarm features) รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ ในการตรวจร่างกาย โดยอาการที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละคนจะส่งผลให้การรักษาแตกต่างกันออกไป แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย ได้แบ่งกลุ่มการรักษาออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
การรักษากรดไหลย้อนตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนในประเทศไทย แนะนำให้เริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย พร้อมกับใช้ยาลดการหลั่งกรดชนิด Proton pump inhibitor (PPI) แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน (PPI Non-responsive GERD) การใช้ยาที่กลุ่ม Alginate เสริมกับยากลุ่ม PPI จะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอาการของโรคได้ดีกว่าการใช้งานกลุ่ม PPI อย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ส่องกล้องทางเดินอาหารแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ และในปี 2021 ได้มีการตกลงร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร ถึงคำแนะนำในการรักษากรดไหลย้อนในกลุ่มผู้ป่วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง โดยให้ใช้ยากลุ่ม Alginate เป็นยาทางเลือกแรก (First-line therapy) และในกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วยยากลุ่ม PPI แล้วยังไม่ได้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจ แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม Alginate ร่วมด้วย เพื่อช่วยในการควบคุมอาการ
แม้ว่ากรดไหลย้อนจะเป็นโรคที่เกิดจาก "พฤติกรรมนำพา" แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็น การลดหรือเลิกดื่มสุราและสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร อาจทำได้แค่ลดความรุนแรงของโรค การใช้ยากลุ่ม PPI ยังคงเป็นการรักษาหลักของโรคนี้ โดยมียากลุ่ม Alginate เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษาร่วมกับยากลุ่ม PPI และยากลุ่ม Alginate ยังเป็นทางเลือกแรกในการรักษาโรคกรดไหลย้อนในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางอีกด้วย